“เส้นรุ้ง” กับ “เส้นแวง” เป็นคำที่หลายๆ ท่านเคยเรียนในสมัยอยู่โรงเรียน ท่องคำว่า “รุ้งตะแคง แวงตั้ง” และความหมายที่ตรงกันคือ เส้นรุ้งคือละติจูด และเส้นแวงคือลองจิจูด ราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์และให้รายละเอียดของละติจูด ลองจิจูด ไว้ในพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไว้ดังนี้
ละติจูด (Latitude) เป็นระยะทางเชิงมุมที่วัดไปตามขอบเมริเดียนซึ่งผ่านตำบลที่ตรวจ โดยนับ 0 (ศูนย์) องศา จากเส้นศูนย์สูตรไปทางเหนือหรือใต้ จนถึง 90 องศาที่ขั้วโลกทั้งสอง หรือเป็นมุมแนวตั้งที่ศูนย์กลางโลกระหว่างเส้นรัศมีของโลกที่ผ่านจุดซึ่งเส้นเมริเดียนตัดเส้นศูนย์สูตรกับเส้นรัศมีที่ผ่านตำบลที่ตรวจ
ลองจิจูด (Longitude) เป็นระยะทางเชิงมุมระหว่างเมริเดียนกรีนิช กับเมริเดียนซึ่งผ่านตำบลที่ตรวจซึ่งวัดไปตามขอบของเส้นศูนย์สูตร หรือขอบของเส้นขนานละติจูด หรือเป็นมุมแนวระดับที่แกนโลกในระหว่างพื้นของเมริเดียนกรนิชกับพื้นของเมริเดียนซึ่งผ่านตำบลที่ตรวจ ตามปรกติวัดเป็น องศา ลิปดา และฟิลิปดา โดยนับ 0 (ศูนย์) องศาจากเมริเดียนกรนิชจนถึง 180 องศาไปทางตะวันออกหรือตะวันตกของเมริเดียนกรีนิช
เส้นเมริเดียน และเมริเดียนกรีนิช มีความหมายว่า
เส้นเมริเดียน (meridian) คือ ขอบของครึ่งวงกลมใหญ่ที่ผ่านขั้วเหนือ และขั้วใต้ของโลก ใช้เป็นเครื่องกำหนดแนวเหนือ-ใต้ของโลก ซึ่งเรียกว่าเหนือจริง ใต้จริง หรือเหนือภูมิศาสตร์ ใต้ภูมิศาสตร์ ตำแหน่งเส้นเมริเดียนบนผิวโลกแต่ละเส้นกำหนดได้ด้วยค่าลองจิจูดของเมริเดียนนั้น
เมริเดียนกรนิช (Greenwich meridian) คือเส้นเมริเดียนที่ผ่านหอดูดาว ณ ตำบลกรีนิช กรุงลอนดอน อังกฤษ ใช้เป็นศูนย์ในการกำหนดค่าต่อไปนี้ 1) พิกัดภูมิศาสตร์ เป็นจุดตั้งต้นของค่าลองจิจูด ซึ่งใช้ประกอบกับค่าละติจูดในการกำหนดตำแหน่งของสถานที่ต่างๆ บนพื้นผิวโลก โดยเมริเดียนกรีนิชนี้จะมีค่าลองจิจูด 0 (ศูนย์) องศา 2) เวลามาตรฐานสากล เวลาของท้องถิ่นที่อยู่ห่างจากเมริเดียนกรีนิชไปทางตะวันออก 1 องศา จะเร็วกว่าเวลาที่กรีนิช 4 นาที แต่ถ้าอยู่ห่างไปทางตะวันตก 1 องศา จะช้ากว่าเวลาที่กรีนิช 4 นาที
คัดลอกจาก : อิสริยา เลาหตีรานนท์ ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ อังคารที่ 20 เมษายน 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น